บันทึกการสร้างแป้นพิมพ์ไทย Manoonchai (3) : วิเคราะห์แป้นพิมพ์ Manoonchai เทียบกับเกษมณี,ปัตตโชติ และเปิดตัวเว็บ Manoonchai.com
ความเดิมจากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เราได้ทำการสร้างแป้นพิมพ์ Manoonchai ที่ได้ผลดีมากพอแล้ว ในตอนนี้เราจะมาวิเคราะห์เทียบกับแป้นเกษมณีและปัตตโชติกัน
คำที่จะมาวิเคราะห์นำมาจาก คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ และเลือกเป็น “รายการคำพร้อมความถี่แจงแจงตาม genres 5000 คำแรก” ซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่าเป็นคำที่ใช้บ่อยที่สุด
แป้นพิมพ์มนูญชัย ลดการใช้นิ้วซ้ำซ้อนกัน
จากรายการคำที่มีความถี่สูงสุด สังเกตได้ว่ามีหลายคำบนแป้นเกษมณี มีการใช้นิ้วที่ซ้ำซ้อนกัน (อยู่ใน Column เดียวกัน) ทำให้พิมพ์ได้ยากขึ้นกว่าการพิมพ์คำที่ใช้หลายนิ้ว เช่น ที่, ใน, ไป, มา
ส่วนบนแป้นปัตติโชติหรือมนูญชัย อัตราการใช้นิ้วซ้ำกันจะลดน้อยลง หรือไม่มีเลย
เห็นได้ว่านอกจากการวางตัวอักษรที่ใช้บ่อย ควรที่จะพิจารณาการเลือก Column ด้วย
แป้นพิมพ์มนูญชัย จำง่ายกว่า
สำหรับตัวอักษรไทยที่ใช้ไม่บ่อย หรือแทบไม่ได้ใช้ สำหรับผมที่พิมพ์บนคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษล้วน เป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร วิธีที่เคยใช้คือพิมพ์ไปเรื่อยๆ หรือรูดปุ่มจนเจอ แล้วค่อยลบตัวที่เหลือทิ้ง 😅
บนแป้นเกษมณี ตัวที่พิมพ์ไม่บ่อยจะปะปนกับปุ่มอื่นๆ ทำให้จดจำได้ยาก
บนแป้นปัตตโชติ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการจัดกลุ่มของตัวอักษรมากขึ้น มีการกระจายที่กันเล็กน้อย
บนแป้นมนูญชัย ตัวอักษรเหล่านี้จะอยู่แถวบนเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ บนแป้นพิมพ์มนูญชัย จะมีการจัดกลุ่มตัวอักษรที่ใกล้เคียงกันไว้ใกล้กัน (Segmentation) ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่บังเอิญ เพราะไม่ได้มีการกำหนดไว้ในโค้ดเลยว่าตัวอักษรที่มีรูปหรือเสียงคล้ายๆ กันจะต้องอยู่ใกล้กัน
เมื่อตัวที่มีลักษณะคล้ายกัน หรือเป็นตัวที่ใช้น้อยๆ ไปอยู่ใกล้กัน มีผลทำให้เกิดการจดจำเป็นกลุ่มๆ จึงทำให้จำง่ายขึ้นมาก และลดการ “มั่วปุ่ม” ได้
อนึ่ง ผมตั้งข้อสงสัยว่าแป้นพิมพ์เกษมณีและปัตตโชติ อาจมีปัญหาที่เก่ียวข้องกับข้อจำกัดของก้านพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ดีดด้วย สังเกตได้จากตัวสระบน/ล่าง หรือวรรณยุกต์ที่จะกองกันอยู่ตรงกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแป้นพิมพ์มนูญชัยไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดนี้
เปิดตัวแป้นพิมพ์มนูญชัย v1.0 และเว็บไซต์ Manoonchai.com
นับจากวันแรกที่เริ่มทำแป้นพิมพ์มนูญชัย ถึงวันนี้ (26 กรกฎาคม) นับว่าเป็นเวลา 3 เดือนพอดี (บังเอิญอีกแล้ว!) สามารถดาวน์โหลดตัวแป้นพิมพ์ Version 1.0 สำหรับ Windows และ macOS ได้แล้วที่เว็บ Manoonchai.com
หรือดู Source Code โปรเจคต์ที่เกี่ยวข้องกับแป้นพิมพ์นี้ทั้งหมดได้ที่ github.com/Manoonchai
หากมีข้อสงสัยหรือสอบถาม สามารถติดต่อได้ที่ @narze บน Social Network ต่างๆ หรืออีเมล์มาได้ที่ manassarn[at]gmail
หรือถ้าอยากสนับสนุนด้วยเงิน ตอนนี้มีช่องทาง Ko-fi.com/narze ให้สนับสนุนค่ากาแฟเล็กๆ น้อยๆ ได้ครับ ☕️
ขอบคุณมากครับ 🙏